7. พรรษาแห่งการหยุดนิ่ง
ลูกๆ ที่รักทั้งหลาย
วันนี้เป็นวันเข้าพรรษา ซึ่งเป็นวันที่พวกเราทุกรูปได้ทราบกันเป็นอย่างดีแล้วว่า ภายในระยะเวลา ๓ เดือนนี้ เราจะไม่ไปค้างคืนที่ไหน จะตั้งใจประพฤติปฏิบัติธรรมร่วมกันในอาวาสแห่งนี้ โดยจะใช้วันเวลาทุกวินาทีให้เป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการประพฤติปฏิบัติธรรม เพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่ได้ตั้งใจบวชเข้ามาในพระพุทธศาสนา คือ การทำพระนิพพานให้แจ้ง หรือพูดง่ายๆ ก็คือ ต้องการขจัดกิเลสอาสวะให้หมดสิ้นไป จนกระทั่งเข้าถึงความเป็นพระอริยบุคคล ไปสู่อายตนนิพพานในที่สุด
ฤดูกาลนี้เป็นฤดูกาลที่เหมาะสมอย่างยิ่งต่อการประพฤติปฏิบัติธรรม เพราะว่าอากาศเย็นสบาย ไม่ร้อนไม่หนาวเกินไป กำลังพอเหมาะพอดีต่อการประพฤติปฏิบัติธรรม ถ้าหากว่าเรามีความตั้งใจจริง ไม่มีความเกียจคร้าน ไม่มีข้อแม้ ข้ออ้าง หรือเงื่อนไขที่จะผัดผ่อนเวลาในการปฏิบัติธรรม หลวงพ่อมั่นใจว่า ภายในพรรษานี้เราทุกรูปต้องสมความปรารถนาอย่างแน่นอน
เราจะสังเกตได้ว่า หลวงพ่อวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ ท่านได้บรรลุธรรมก็ในกลางพรรษา ในคืนวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๐ ซึ่งท่านได้ถือเอาฤดูกาลแห่งพรรษานี้ตัดสินใจสละชีวิตประพฤติปฏิบัติธรรม ให้เข้าถึงธรรมะที่พระพุทธองค์ตรัสรู้ ในที่สุดท่านก็ได้สมปรารถนา
เพราะฉะนั้นพวกเราทั้งหลายก็เช่นเดียวกัน จะต้องยึดถือท่านเป็นแบบอย่างในการประพฤติปฏิบัติธรรม โดยจะเริ่มต้นกันอย่างจริงจังตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป
สูตรสำเร็จ
หลวงพ่อเชื่อมั่นว่า ลูกๆ ทุกรูปมีความกระหายอยากจะเข้าถึงธรรมกายกันจริงๆ จึงได้ตั้งใจเข้ามาสู่หมู่คณะนี้ ดังนั้นเมื่อความตั้งใจจริงของลูกทุกรูปนั้นมีอยู่ เท่ากับว่าเราได้กำความสำเร็จในการเข้าถึงธรรมไว้แล้วครึ่งหนึ่ง อีกครึ่งหนึ่งเหลือแต่เพียงปรับวิธีการปฏิบัติให้ถูกวิธี และทำอย่างต่อเนื่องเท่านั้น ความสำเร็จก็จะเกิดขึ้น
สูตรสำเร็จในการเข้าถึงธรรมะภายในมี ๓ ประการ คือ
ประการที่ ๑ ให้พวกเราทุกรูปหันกลับมาพิจารณาตัวเราว่า เราได้ปฏิบัติถูกวิธีตามคำแนะนำของหลวงพ่อหรือเปล่า อย่างเช่น
หลวงพ่อบอกว่า ให้ทำใจหยุดนิ่งเฉยๆ อย่างสบายๆ ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ให้ต่อเนื่องตลอดเวลา ทั้งนั่ง นอน ยืน เดิน ในทุกอิริยาบถ ทำอย่างนี้ แค่นี้ เท่านั้น ให้สังเกตดูว่าเราได้ทำอย่างนี้กันหรือเปล่า
ประการที่ ๒ หลวงพ่อก็อธิบายเพิ่มเติมถึงวิธีการทำใจให้สบายๆ คือ ทำใจหลวมๆ ให้มีความรู้สึกว่าสบาย โดยไม่มั่นหมายว่าเราจะได้อะไร คือ ให้ทำตามขั้นตอนของใจ
ขั้นตอนของใจเรา ตอนนี้ต้องการทำใจให้หลวมๆ อย่างสบายๆ โดยไม่มั่นหมายว่าเราจะเห็นนั่น เห็นนี่ ได้นั่น ได้นี่ เข้ากลางอย่างละเอียด หรืออะไรที่นอกเหนือจากนี้ ให้ทำอย่างนี้ แค่นี้ เท่านั้น ให้สังเกตดูว่าเราได้ทำอย่างนี้กันหรือเปล่า
ประการที่ ๓ เมื่อเราทำทั้งสองประการนั้นต่อเนื่องกันไปแล้ว ก็จะเกิดสิ่งที่สามตามมา นั่นคือมีนิมิตเกิดขึ้นให้เราดู ตั้งแต่เห็นแสงสว่าง เห็นจุดเล็กใสๆ เห็นดวงธรรมใสๆ เห็นกายภายในใสๆ เกิดขึ้น ตั้งแต่กายมนุษย์ละเอียด กายทิพย์ กายรูปพรหม กายอรูปพรหม แล้วเข้าถึงกายธรรม หรือสิ่งที่เราเห็นนอกเหนือจากนี้ จะเป็นคน สัตว์ สิ่งของ หรือจะเป็นภาพอะไรก็แล้วแต่
สิ่งที่เราต้องทำต่อไปก็คือ มีอะไรให้ดูที่ศูนย์กลางกาย ก็ให้ดูไปเรื่อยๆ อย่างสบายๆ โดยไม่ต้องคิดอะไรทั้งสิ้น ให้ทำอย่างนี้ แค่นี้ เท่านั้น ให้สังเกตดูว่าเราได้ทำอย่างนี้กันหรือเปล่า
นี่คือสูตรสำเร็จ ที่จะทำให้เราเข้าถึงธรรมภายในได้ ฟังดูแล้วเหมือนไม่มีอะไร แต่นี่คือหัวใจสำคัญ ที่พวกเราหลายรูปกำลังติดอยู่ และติดกันมากเสียด้วย ภายในพรรษานี้เราจะขจัดสิ่งเหล่านี้ให้หมดไป และจะพยายามทำให้ได้ต่อเนื่องตลอดเวลาในทุกอิริยาบถ
กล้าที่จะพิจารณาตนเอง
หลวงพ่อเคยยกตัวอย่าง สาธุชนหลายท่านที่ปฏิบัติธรรมจนสามารถเข้าถึงธรรมภายในได้ ทั้งๆ ที่เขามีภารกิจที่แตกต่างจากเราโดยสิ้นเชิง
ภารกิจของเขานั้น บางอย่างไม่เป็นกุศลด้วยซ้ำ อย่างเช่น บางท่านต้องดูแลลูก ดูแลครอบครัว ทำภารกิจในที่ทำงาน กลับมาก็ต้องบริหารบ้าน บริหารครอบครัว และต้องเจียดเวลาสำหรับการปฏิบัติธรรม แต่ไม่น่าเชื่อเลย ท่านเหล่านั้นกลับประสบความสำเร็จในการปฏิบัติธรรม
เขาสามารถเข้าถึงดวงธรรมภายใน เข้าถึงกายภายใน เข้าถึงพระธรรมกายภายใน และเล่าให้หลวงพ่อฟังอย่างถูกต้องเสียด้วย เล่าด้วยความอาจหาญ ร่าเริง เบิกบานในธรรม ซึ่งเป็นสิ่งที่หลวงพ่อฟังแล้วเกิดปีติทุกครั้ง และอดที่จะชื่นชมไม่ได้ว่า นี่ขนาดเขามีเวลาอย่างจำกัด ต้องทำมาหากิน มีเครื่องกังวลใจต่างๆ มากมาย ต้องประสบปัญหาสารพัด แต่เขาสามารถจัดสรรเวลาสำหรับการประพฤติปฏิบัติธรรมได้อย่างเต็มที่ จนกระทั่งเข้าถึงพระรัตนตรัยภายในได้
เมื่อหันกลับเข้ามามองในหมู่คณะของเรา กิจวัตรกิจกรรมของเราตรงกันข้ามกับชาวโลกทั้งหลายโดยสิ้นเชิง กิจกรรมของเราล้วนเป็นบุญกุศลทั้งนั้น เป็นการดำรงชีวิตอยู่อย่างมีคุณค่า ก่อให้เกิดประโยชน์ทั้งต่อตนเองและผู้อื่น
หลวงพ่อยังไม่เห็นว่าจะมีกิจกรรมใดๆ ทั้งสิ้นในโลก ที่จะมาเทียบกับกิจกรรมของเราได้เลย กิจวัตรกิจกรรมเหล่านี้น่าจะเป็นสิ่งที่ช่วยส่งเสริมสนับสนุน ให้เราเข้าถึงธรรมได้ดียิ่งกว่าท่านเหล่านั้นเสียอีก
เพราะฉะนั้นภายในพรรษานี้ท่านที่ยังไม่เข้าถึง ก็ให้หันมาพิจารณาตัวเราด้วยความกล้าหาญว่า
ทำไมเราจึงทำใจให้หยุด ให้นิ่งที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ อย่างต่อเนื่องไม่ได้ ?
ทำไมเราจึงยังเข้าไม่ถึงดวงธรรม ?
ทำไมเรายังเข้าไม่ถึงธรรมกาย ?
ทั้งๆ ที่เราต่างมีความตั้งใจดีกันมาแต่เดิมอย่างเต็มที่ ถ้าให้คะแนนความตั้งใจที่จะเข้ามาศึกษาวิชชาธรรมกาย พวกเราก็ได้ ๑๐๐ คะแนนเต็มกันทุกรูปเลย
สำหรับท่านที่เข้าถึงธรรมภายในแล้ว ก็พยายามฝึกให้คล่อง ทำให้ชำนาญ เพราะในอนาคตสิ่งที่เราจะต้องศึกษาเกี่ยวกับวิชชาธรรมกายนั้นยังมีอีกมาก ซึ่งหนีไม่พ้นหลักคือ “การทำใจหยุดใจนิ่ง” ได้เลย
“หยุดเป็นตัวสำเร็จ” หลวงพ่อวัดปากน้ำท่านยืนยันอย่างนั้น ถูกต้องร่องรอยตรงตามคำสอนของพระพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์ทีเดียว
เพราะฉะนั้นแม้เราจะหยุดได้แล้วในเบื้องต้น ก็ยังจะต้องฝึกหยุดในหยุดต่อไปเรื่อยๆ ตามลำดับ
หยุดเป็นตัวสำเร็จ
การศึกษาวิชชาธรรมกายจะแตกต่างจากการศึกษาทางโลก การศึกษาทางโลกนั้นเราต้องอาศัยการได้ยิน ได้ฟัง ได้อ่าน ต้องท่อง ต้องทรงจำ ต้องคิดค้นทดลอง จึงจะศึกษาสำเร็จได้ ซึ่งตรงข้ามกับการศึกษาวิชชาธรรมกายของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่อาศัยเพียงการหยุดนิ่งอย่างเดียวเท่านั้น
หยุดนิ่งอย่างเดียว จะเปลี่ยนจากผู้ไม่รู้ เป็นผู้รู้ได้ เปลี่ยนจากคนโง่ ให้เป็นคนฉลาดได้
หลวงพ่อวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ ผู้เป็นครูของเรา แต่เดิมท่านก็ไม่มีความรู้เกี่ยวกับเรื่องกายในกายเลย ก่อนนั้นท่านได้ศึกษาวิชาความรู้ต่างๆ มามากมายทีเดียว แล้วท่านก็มีความเห็นว่า วิชาความรู้ทั้งหลายล้วนเป็นสิ่งที่ดีมีประโยชน์ด้วยกันทั้งนั้น แต่ยังไม่ใช่ของดีเลิศ ยังไม่สามารถเติมเต็มความปรารถนาในใจลึกๆ ของท่านให้เต็มเปี่ยมได้
ท่านจึงได้วางความรู้เหล่านั้น แต่ก็ไม่ได้ดูถูกสิ่งเหล่านั้น วางทุกสิ่งที่ท่านเคยศึกษาเล่าเรียนมาทั้งหมด แล้วก็หันมาตั้งใจประพฤติปฏิบัติธรรม ทำใจหยุดใจนิ่งอย่างเดียว หยุดเรื่อยไปเลย จนกระทั่งเข้าถึงดวงปฐมมรรค ดวงธรรมภายใน ซึ่งท่านไม่เคยรู้จักมาก่อน
พอใจหยุดแล้วดวงธรรมก็บังเกิดขึ้นเอง คือ เราจะไปคิดค้นด้นเดาเอาว่าในตัวเรามีดวงธรรม หรืออะไรต่างๆ เหล่านี้ ทั้งๆ ที่เราไม่เคยมีความรู้มาก่อนนั้น มันคิดไม่ออก คิดอย่างไรก็คิดไม่ออก เพราะเป็นอจินไตย คิดไปก็ไม่รู้เรื่อง ไม่เกิดประโยชน์
แต่เมื่อใจท่านหยุดนิ่งอยู่ภายใน ถูกส่วนเข้า ดวงธรรมก็บังเกิดขึ้น แล้วท่านหยุดเรื่อยไปเลย มีอะไรให้ดูท่านก็ดูไป ดูไปเรื่อยๆ อย่างสบายๆ โดยไม่คิดอะไรทั้งสิ้น
ท่านหยุดไปในกลางดวงธรรม แล้วก็หยุดเข้าไปตามลำดับเรื่อยไปเลย กระทั่งเข้าถึงกายมนุษย์ละเอียด กาย ทิพย์ กายรูปพรหม กายอรูปพรหม แล้วเข้าถึงกายธรรมในที่สุด พอไปสุดที่กายธรรม ท่านก็ลืมตาขึ้นมาในยามดึก ค่อนคืน แล้วรำพึงว่า
“เออ…มันยากอย่างนี้นี่เอง ถึงได้ไม่บรรลุกัน ความเห็น ความจำ ความคิด ความรู้ ต้องรวมหยุดเป็นจุดเดียวกัน เมื่อหยุดแล้วจึงดับ เมื่อดับแล้วจึงเกิด”
ธรรมกายเป็นสิ่งที่มีอยู่ในพระพุทธศาสนา มีอยู่ในคัมภีร์ต่างๆ มากมายทีเดียว แต่ไม่มีคัมภีร์ไหนเลยที่บอกว่า ธรรมกายมีลักษณะเป็นอย่างไร อยู่ที่ตรงไหน และจะเข้าถึงได้ด้วยวิธีการใด
เมื่อหลวงพ่อวัดปากน้ำท่านสละชีวิตปฏิบัติธรรม ทำใจหยุดใจนิ่ง จนกระทั่งเข้าถึงธรรมกาย รู้ได้ทั่วถึงว่านี่คือธรรมกาย พอเห็นแจ้ง ก็รู้แจ้ง ความเห็นแจ้งกับความรู้แจ้งจะเกิดขึ้นพร้อมกัน ไม่ก่อนไม่หลังกันเลย คือพอเห็นธรรมกายก็รู้แจ้งว่า นี่เรียกว่า ธรรมกาย เกิดขึ้นพร้อมกัน
เห็นไหมจ๊ะว่า แต่เดิมท่านไม่ได้มีความรู้อะไร อาศัยหยุดนิ่งอย่างเดียว จนกระทั่งเข้าถึงธรรมกายและก็รู้จักธรรมกาย
หยุดนิ่งจึงเป็นตัวสำเร็จ และเป็นวิธีเดียวที่จะเรียนรู้วิชชาธรรมกายของพระพุทธเจ้าได้ จะศึกษาวิชชา ๓ คือ บุพเพนิวาสานุสติญาณ จุตูปปาตญาณ หรืออาสวักขยญาณก็ตามที ความรู้เหล่านี้ต้องอาศัยการหยุดนิ่งอย่างเดียว
มีใครบ้างในโลก ที่ใช้ความนึกคิด หรือศึกษาเล่าเรียนเอา จนเกิดความรู้ได้ว่า ภพชาติก่อนๆ นั้น ตนเองเคยเกิดเป็นอะไร เป็นผู้หญิงหรือผู้ชาย อยู่ในตระกูลไหน มีความเป็นอยู่อย่างไร คือ รู้เรื่องราวของชีวิตในกาลก่อนนั้นได้
ความรู้เหล่านี้เป็นอจินไตย ใช้มันสมองคิดอย่างไร ก็คิดไม่ออก จนกระทั่งหยุดนิ่งอยู่ในกลางธรรมกายนั่นแหละ พอถูกส่วนเข้าก็เห็นเรื่องราว เห็นได้รอบตัวทุกทิศทุกทาง ความรู้ก็บังเกิดขึ้นมาเลย อาศัยหยุดนิ่งอย่างเดียว จึงบรรลุบุพเพนิวาสานุสติญาณได้
จุตูปปาตญาณก็เช่นเดียวกัน ภูมิของสัตว์โลกทั้ง ๓๑ ภูมินี่ ทั้งในกามภพ รูปภพ และอรูปภพ พระพุทธองค์ทรงรู้แจ้งแทงตลอดหมด ด้วยการหยุดนิ่งอย่างเดียว
แม้กระทั่งการบรรลุอาสวักขยญาณ คือ การขจัดกิเลสอาสวะให้หมดสิ้นไป ก็ต้องอาศัยหยุดเข้าไปเรื่อยๆ จนกระทั่งบรรลุมรรคผลนิพพาน หยุดนิ่งนี้จึงเป็นตัวสำเร็จ หยุดเป็นตัวสำเร็จ
ช่วยกันสร้างบรรยากาศ
พรรษานี้ ให้หันมาพิจารณาตัวของเรา ตั้งใจปรารภความเพียรให้สม่ำเสมอในทุกอิริยาบถ ทั้งนั่ง นอน ยืน เดิน ตรึกเรื่อยไปเลย ที่ทำได้แล้วก็ทำต่อไป ทำหยุดในหยุดต่อไปเรื่อยๆ
ถ้ามีโอกาสจะสร้างบรรยากาศของการประพฤติปฏิบัติธรรม โดยการพูดคุยกัน แนะนำกัน ซักถามกันว่า ปฏิบัติไปถึงไหน หยุดนิ่งไหม หยุดไปถึงตรงไหนแล้ว ทำอย่างไรจึงจะหยุดได้ต่อไปอีก
ถ้าลูกๆ ทุกคนจะช่วยกันสร้างบรรยากาศของการประพฤติปฏิบัติธรรมอย่างนี้ด้วย ก็จะเป็นสิ่งที่ดีทีเดียว เวลาเราเข้าถึงธรรม เราจะได้เข้าถึงไปพร้อมๆ กัน ชีวิตของสมณะ ของนักบวชนี้ก็จะมีความหมายเพิ่มขึ้น
การบวชในคราวนี้เราจะได้สมปรารถนา และการทำอย่างนี้ทุกๆ วัน ธาตุธรรมของเรา ทั้งกาย วาจา ใจของเรา ดิน น้ำ ลม ไฟ อากาศธาตุ วิญญาณธาตุ ก็จะถูกกลั่นให้สะอาด ให้บริสุทธิ์เพิ่มขึ้นทุกวันทุกคืน
สมณะที่มีใจหยุดนิ่งดีแล้ว
ให้สังเกตดูในหมู่คณะของเรา ยามใดที่เราตั้งใจประพฤติปฏิบัติธรรมกันอย่างเต็มที่ ธาตุธรรม ทั้งเห็น จำ คิด รู้ของเราจะถูกกลั่นให้สะอาดขึ้นไปเรื่อยๆ เราจะสังเกตเห็นว่าผิวพรรณวรรณะผ่องใส ดวงตาสุกใส น้ำเสียง นุ่มนวล อากัปกิริยาต่างๆ ก็เหมาะสมกับการเป็นนักบวช โดยที่เราไม่ได้คำนึงถึงสมณสัญญาด้วยซ้ำไป เป็นแต่เพียงเราเอาใจหยุดนิ่ง รักษาใจไว้ตรงกลางกายฐานที่ ๗ อย่างเดียวเท่านั้น สมณสัญญาก็เกิดขึ้น ความบริสุทธิ์ภายในก็เกิดขึ้นทันที
ความบริสุทธิ์ที่เกิดขึ้นจากภายในจะแผ่ขยายออกสู่ภายนอก สู่ระบบประสาท กล้ามเนื้อ ผิวพรรณวรรณะ กระแสใจอันบริสุทธิ์ที่ส่งไปโดยรอบทุกทิศทุกทาง จะดึงดูดสัตว์โลกทั้งหลาย สาธุชนทั้งหลายเมื่อเขาได้เห็น ได้สัมผัสด้วยสายตาแล้ว ก็จะบังเกิดความเลื่อมใส
เมื่อทัสสนานุตตริยะ คือ การเห็นอันประเสริฐเกิดขึ้น เขาจะเริ่มมีความรู้สึกว่าสายตาของเขานี่มีบุญแท้ๆ ที่ได้มาสัมผัสกับสมณะ ผู้มีความสงบกายและใจ เป็นพระที่มีสมณสัญญา และก็จะเริ่มรู้สึกว่า การเห็นสมณะเป็นมงคลอย่างยิ่ง
เขาจะเกิดความปีติ เบิกบาน ดวงจิตมีความเลื่อมใส อย่างที่ไม่เคยเกิดความรู้สึกชนิดนี้มาก่อนในโลก ใจที่ขุ่นมัวกลับเลื่อมใสเป็นเงา ใสกระจ่างขึ้นทีเดียว อยากมอง มองแล้วก็ไม่อิ่ม ไม่เบื่อ มองด้วยใจที่เป็นกุศล มองในฐานะที่เห็นเราเป็นสรณะ เป็นที่พึ่งที่ระลึกอันประเสริฐ
นี่คือสายตาที่สาธุชนทั้งหลายมองพระภิกษุที่มีใจหยุดดีแล้ว การเห็นสมณะดีอย่างนี้ เห็นแล้วก็อยากเข้าใกล้ อยากฟังธรรม แม้เราจะแสดงธรรมไม่เป็น เราไม่ใช่นักเทศน์ ไม่ได้เป็นพระธรรมกถึก แต่ถ้อยคำที่กลั่นออกมาจากใจอันบริสุทธิ์ ที่เรามีประสบการณ์ภายในอย่างแท้จริง แม้เพียงคำเดียว ก็มีคุณค่าอย่างมหาศาล เป็นมงคลอย่างยิ่งต่อผู้ที่ได้ยินได้ฟัง ทำให้เขาเกิดความปีติเบิกบาน มีกำลังใจอยากจะสร้างความดี อยากจะประพฤติปฏิบัติธรรมตามไปด้วย
เช่น เราแค่พูดว่า “หยุดเป็นตัวสำเร็จ มาประพฤติปฏิบัติธรรมกันเถอะ” คำพูดไม่กี่คำแค่นี้แหละ กลับมีพลังอย่างมหาศาลทีเดียว คำๆ นี้ ใครก็พูดได้ แต่พลังไม่เท่ากัน
ถ้าคำนี้ออกมาจากจุดที่มีพลัง ซึ่งกลั่นความบริสุทธิ์ออกมาจากกลางกาย พูดออกไปแม้เพียงไม่กี่คำก็สร้างความปีติ ความเบิกบาน ก่อให้เกิดพลังใจที่จะสร้างความดียิ่งๆ ขึ้นไป ทำให้เขาเกิดความรู้สึกอยากจะประพฤติปฏิบัติธรรมขึ้นมาได้อย่างน่าอัศจรรย์ทีเดียว
เพราะฉะนั้นพรรษานี้ ให้เป็นพรรษาที่เราจะน้อมนำใจของเรากลับมาอยู่ที่ศูนย์กลางกาย ซึ่งเป็นที่อยู่ที่แท้จริงของเราอย่างจริงจังกันในทุกอิริยาบถ
หลวงพ่อขอฝากสิ่งเหล่านี้เอาไว้ให้ลูกๆ ทั้งหลายได้นำไปพิจารณา นึกคิด และปฏิบัติตาม ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป เผลอประเดี๋ยวเดียววันเวลาแห่งความสุข และอากาศที่เหมาะสมต่อการประพฤติปฏิบัติธรรมก็จะหมดไป แค่ ๓ เดือนเท่านั้น ประเดี๋ยวเดียวก็จะหมดเวลาแล้ว จงใช้วันเวลาให้คุ้มค่าต่อการสร้างบารมี ต่อการประพฤติปฏิบัติธรรมกันนะลูกนะ
วันอังคารที่ ๓ เดือนสิงหาคม พ.ศ. ๒๕๓๖
โอวาท หลวงพ่อธัมมชโย (คุณครูไม่ใหญ่)
ที่มา
หนังสือ พรรษาวิสุทธิ์
www.dhamma01.com/book/02
๓ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๓๖