การฝึกสมาธิ

สมาธิต้องฝึกสม่ำเสมอ 4/10/53 (นาที 15:15)

เราหายใจเข้าออก ถ้าไม่สม่ำเสมอก็ตาย สมาธิต้องฝึกสม่ำเสมอ ฝึกใหม่ๆมันจะอืด เพราะยังคิดเรื่องนั้นเรื่องนี้ มันช้าเพราะมันเข้าๆออกๆ พอเราฝึกซ้ำๆๆบ่อยๆ เหมือนเรารับประทานอาหารบ่อยๆ อาบน้ำล้างหน้า แปรงฟันบ่อยๆ จากอืด ก็มาอืดๆๆๆ จากอืดๆๆๆก็เป็นวืดๆๆๆๆ โอวาท หลวงพ่อธัมมชโย (คุณครูไม่ใหญ่)

เมื่อท่องสัมมาอะระหังแล้วไม่ถูกจริต 2/12/53 (21:18)

เริ่มอย่างถูกหลักวิชา ต้องเบาๆ ผ่อนคลาย ใจเย็นๆ จนกระทั่งใจนิ่งๆ ว่างๆ เบาๆ รู้สึกสบายกาย สบายใจ เกิดการปลอดโปร่งใจขึ้นมา แล้วความสุขเกิดขึ้นเอง ทำเฉยๆ อย่าตั้งใจมาก อย่ากลัวช้า อย่าคิดนำ อย่ากำกับ ไม่เค้น ไม่เน้นภาพ เพราะภาพมีอยู่แล้วภายใน เป็นภาพละเอียด เราต้องทำใจให้ละเอียดกับภาพที่อยู่ภายใน วิธีทำใจละเอียดคือทำเฉยๆ ที่เราภาวนา…ก็เพื่อให้ใจหลุดจากความคิดภายนอก…ให้มาผูกไว้กับคำภาวนา…พอถึงจุดถูกส่วนก็ทิ้งไปเลย ลืม ไม่อยากภาวนา อยากเฉยๆ เดี๋ยวก็หล่นเข้าไปข้างใน โอวาท หลวงพ่อธัมมชโย (คุณครูไม่ใหญ่)

“ทิ้งทุกอย่าง ปล่อยวางทุกสิ่ง นิ่งอย่างเดียว” 28/1/54 (02:57)

ต้องเบื่อก่อนจึงจะ “ทิ้งทุกอย่าง ปล่อยวางทุกสิ่ง นิ่งอย่างเดียว” โอวาท หลวงพ่อธัมมชโย (คุณครูไม่ใหญ่)

นั่งสมาธิแล้วรู้สึกวูบ ทำอย่างไร 1/2/54 (01:12)

กำลังจะตกสูญ การวูบจึงเกิดขึ้น อย่าตกใจ อย่าลืมตา อย่าขยับตัว ไม่ต้องกลัวอะไร ให้ทำเฉยๆ วูบๆก็วูบไป อีกหน่อยจะค่อยๆคุ้น โอวาท หลวงพ่อธัมมชโย (คุณครูไม่ใหญ่)

ทำอย่างไรที่จะให้ผลการปฎิบัติธรรมก้าวหน้าขึ้นเรื่อยๆ 22/1/56 (06:21)

ทำอย่างไรให้ผลการปฎิบัติธรรมของลูกก้าวหน้า ให้ลูกทำง่ายๆ สบายๆ เหมือนพุทธันดรที่ผ่านมา เวลานั่งสมาธิต้องปลดปล่อยเรื่องราวต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องคน สัตว์ สิ่งของ หรือเรื่องอะไรก็ตาม ให้ตัวลูกอยู่กับปัจจุบัน อย่าเพิ่งไปคิดถึงเหตุการณ์ล่วงหน้าในอนาคตที่ยังไม่เกิดขึ้น ถ้าตัวลูกปล่อยวางได้ อย่างสบายๆ ตัวลูกจะหยุดนิ่งได้อย่างง่ายๆ ต้องสังเกตุว่า เราวางใจอย่างไรถึงนั่งได้ดีและมีความสุข หรือถ้านั่งแล้วไม่มีความสุข และไม่มีประสบการณ์ภายในที่ดีๆเหมือนอย่างวันก่อน เราต้องหมั่นสังเกตุดู ว่าเกิดจากสาเหตุอะไร โอวาท หลวงพ่อธัมมชโย (คุณครูไม่ใหญ่)

นั่งสมาธิแล้วรู้สึกเหมือนหยุดหายใจ แก้อย่างไร 14/12/50 (04:01)

เป็นอาการของใจที่ละเอียด เป็นสมาธิอีกระดับหนึ่ง ที่จะเปลี่ยนวิธีการหายใจ จากหายใจด้วยลมหยาบๆ เป็นหายใจด้วยลมละเอียด หายใจทั้งเนื้อทั้งตัว ลมหายใจที่จะเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับลมหายใจของจักรวาล กำลังไปสู่อีกมิติหนึ่ง แต่เราไม่คุ้นเคย ..เป็นอาการของการเปลี่ยนระดับการหายใจ…ถ้าถึงอาการอย่างนี้ ให้ใช้คำพระเดชพระคุณหลวงปู่ ฟ้าจะถล่ม แผ่นดินจะทลาย คอขาดบาดตาย ช่างมัน โอวาท หลวงพ่อธัมมชโย (คุณครูไม่ใหญ่)

การนั่งสมาธิเข้าถึงพระในตัว ไม่ใช่เรื่องยากจนเกินไป 2/5/51 (07:40)

จริงๆแล้วพระนิพพานท่านสอดละเอียดลงมาให้เราเห็นตลอด 24 น.เรานะแค่ทำใจนิ่งๆ เหมือนด้ายที่เตรียมร้อยเข้ามาในเข็ม มันต้องนิ่งด้วยกันทั้งคู่ ด้ายนี่นิ่ง แต่เข็มนี่สิเคลื่อน ถ้าเราทำใจเฉยๆ มืดก็นิ่ง ไม่มืดก็นิ่ง เดี๋ยวท่านสอดละเอียดลงมา ปุ๊ป สว่างมาเลย…เดี๋ยวท่านก็ลงมาสะสางธาตุธรรมของเราให้ใสสะอาดบริสุทธิ์ โอวาท หลวงพ่อธัมมชโย (คุณครูไม่ใหญ่)

นิมิตเลื่อนลอย และวิธีแก้ไขขณะปฎิบัติธรรม 4/6/52 (04:00)

ใจที่หยุดไม่สมบูรณ์ สิ่งที่เป็นมลทินของใจฉายมาให้เห็น แล้วตัวก็ไม่รู้เรื่องประสบการณ์ภายใน ก็เลยเข้าใจว่าสิ่งที่เห็นนั้นเป็นจริงทั้งๆที่เห็นจริง แต่สิ่งที่เห็นนั้นไม่จริง…พระโบราณจารย์จึงไม่ให้สนใจนิมิตเลื่อนลอย โดย ๑ ให้สักแต่ว่าเห็น ๒ ถอยจิตมาคิดนิดหนึ่งว่าเห็นภาพนี้ ภาพนั้นก็หาย แต่ภาพบางภาพซึ่งเป็นของจริงมักจะเหมาหมดว่าเป็นนิมิตเลื่อนลอย และไม่ให้เห็น เช่นภาพดวงธรรมที่เกิดขึ้นมาใสๆ แต่ไม่รู้จัก ถอยจิตขึ้นมาคิดนิดหนึ่งภาพนั้นก็หายไป ก็แปลว่าเมื่อนั่งแล้วก็ได้เท่าเดิม โอวาท หลวงพ่อธัมมชโย (คุณครูไม่ใหญ่)

หยุดแรกให้ได้ 7/12/49 (03:00)

ผลการปฎิบัติธรรมของพุทธบุตรรุ่น 114+1 มีบางท่านได้เห็นองค์พระภายใน ได้ชื่อว่าบวชสองชั้น บางท่านใจนิ่งเห็นจุดใสๆ บางท่านใสมาก บางท่านใสน้อยลงมาหน่อย นั่นแหละหยุดแรกได้แล้ว ถูกต้องแล้ว ถ้าหยุดได้แล้วจะได้ชื่อว่าเป็นเนื้อนาบุญ.. สำหรับพุทธบุตรที่ตั้งใจมากเป็นพิเศษ ก็ปรับให้ตั้งใจแต่พอดี ถ้าตั้งใจมากเกินไปมันจะเครียด เครียดไม่ควรนั่ง นั่งเครียดไปทำไม นั่งสบายๆดีกว่า โอวาท หลวงพ่อธัมมชโย (คุณครูไม่ใหญ่)